นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โควิด 19 ว่า ขณะนี้สถานการณ์โรคโควิด 19 ในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง สอดคล้องกับทั่วโลก จากเดิมเราคาดการณ์ว่าช่วงหลังสงกรานต์จะติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่จากความร่วมมืออย่างดีของประชาชนทำให้สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดี ไม่มีการระบาดใหญ่ตามมา ข่าวการเมือง เศรษฐกิจในประเทศไทย
ดังนั้น ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) กรณีโรคโควิด 19 ที่มี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้มีการประกาศลดระดับการเตือนภัยโควิด จากระดับ 4 เหลือระดับ 3 ทุกจังหวัดทั่วประเทศ
ทั้งนี้ คำแนะนำการเตือนภัยระดับ 3 คือ การไปในสถานที่เสี่ยงนั้น ขอให้ทุกคนงดเข้าสถานบันเทิง เลี่ยงเข้าสถานที่ระบบปิดที่มีการระบายอากาศไม่ดี และสถานที่แออัด สำหรับการร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมาก การเดินทางข้ามพื้นที่/ข้ามจังหวัด และการเดินทางเข้า-ออกประเทศ หากเป็นคนทั่วไปสามารถดำเนินการได้ แต่ให้เลี่ยงเดินทางไปต่างประเทศ สำหรับกลุ่มเสี่ยง 608 คือ ผู้สุงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 โรค และหญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ 3 เข็ม ให้เลี่ยงเข้าร่วมกิจกรรมร่วมกลุ่มจำนวนมาก เลี่ยงโดยสารยานพาหนะขนส่งสาธารณะทุกประเภท และงดเดินทางไปต่างประเทศ ถือเป็นข้อแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ไม่เกี่ยวกับมาตรการบังคับแต่อย่างใด
นอกจากนี้ นพ.โอภาส ยังกล่าวอีกด้วยว่า สำหรับผู้เสียชีวิตในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา พบว่า 95-96% เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีโรคเรื้อรัง และไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์จริงของผู้ติดเชื้อรายใหม่ ปอดอักเสบ ใส่เครื่องช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิต มีแนวโน้มลดลงสอดคล้องกันทั้งหมด เป็นไปตามการคาดการณ์ของกระทรวงสาธารณสุข หรือบางตัวก็แนวโน้มดีขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ขณะนี้มีจังหวัดที่เข้าสู่ระยะทรงตัว (Plateau) แล้ว 23 จังหวัด และสถานการณ์ดีขึ้นอยู่ในระยะขาลง (Declining) 54 จังหวัด แนวโน้มจากสถานการณ์ก็ใกล้เข้าสู่ระยะหลังการระบาดใหญ่ (Post-Pandemic) เข้าไปเต็มที
รายชื่อ 23 จังหวัดที่อยู่ในระยะทรงตัว ประกอบด้วย
พะเยา ลำปาง พิษณุโลก พิจิตร อุทัยธานี ชัยนาท กำแพงเพชร มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น อุดรธานี หนองลัวลำภู สกลนคร นครพนม บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยภูมิ ยโสธร อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และมุกดาหาร ที่เหลืออีก 54 จังหวัดอยู่ในระยะขาลง
นพ.โอภาส กล่าวว่า สถานการณ์โควิดไทยมีแนวโน้มพบผู้ป่วยลดลงตามลำดับ ขอให้ทุกจังหวัดจัดทำแผนปฏิบัติการเตรียมพร้อมเข้าสู่ระยะโรคประจำถิ่น เพื่อการมีส่วนร่วมของสถานประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ และประชาชน โดยเดินหน้ามาตรการ 2U คือ Universal Prevention ป้องกันตนเองครอบจักรวาล ใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง และ Universal Vaccination โดยเน้นให้กลุ่ม 608 รับวัคซีนเข็มกระตุ้นมากกว่า 60% และเน้นเรื่อง 3 พอ คือ เตียงสีเหลือง-สีแดง, ยา เวชภัณฑ์ วัคซีน และบุคลากรทางการแพทย์ มีเพียงพอต่อการให้บริการที่ได้มาตรฐาน
"หลายจังหวัดที่ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัด อยากเป็นจังหวัดนำร่อง ซึ่งย้ำว่านอกจากสถานการณ์แล้ว ความร่วมมือของประชาชนและวัคซีนเข็มกระตุ้นมีความสำคัญมาก โดย สธ.มีวัคซีนทุกชนิดไปที่ รพ.สต. สามารถวอล์กอินไปฉีดได้ ส่วน กทม. ก็จัดหน่วยบริการประชาชน ทั้งแบบลงทะเบียนล่วงหน้าและวอล์กอิน ให้สอบถามหน่วยบริการก่อน ย้ำว่าหากฉีดครบ 2 เข็ม 3 เดือน ให้มารับเข็ม 3 และ 3 เข็ม ครบ 4 เดือน ให้มารับเข็ม 4 เพื่อช่วยกันเดินหน้าเข้าสู่โรคประจำถิ่นต่อไป" นพ.โอภาส ระบุ
อย่างไรก็ตาม นพ.โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 มีหมุดหมายเรื่องเปิดเรียน จึงต้องเตรียมความพร้อม ซึ่งครูและบุคลากรทางการศึกษามีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้วมากกว่า 90% ส่วนกลุ่มเด็กอายุ 12-17 ปี มีการฉีดครบ 2 เข็มแล้วมากกว่า 90% จึงต้องเร่งฉีดเข็มกระตุ้น โดยหากเป็นผู้ที่รับวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ให้รับเข็ม 3 เป็นไฟเซอร์ขนาดครึ่งโดสหรือเต็มโดส ส่วนผู้ที่รับวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็ม ให้ฉีดเข็มกระตุ้นเป็นไฟเซอร์เต็มโดส ส่วนเด็กอายุ 5-11 ปี เป้าหมาย 5.1 ล้านคน ฉีดเข็ม 1 แล้ว 2.8 ล้านคน คิดเป็น 54.5% และเข็ม 2 ฉีดแล้ว 8.9 แสนคน คิดเป็น 17.4% โดยสูตรฉีดเป็นไฟเซอร์ (ฝาสีส้ม) 2 เข็ม ห่างกัน 8 สัปดาห์ หรือซิโนแวค-ไฟเซอร์ (ฝาสีส้ม) ห่างกัน 4 สัปดาห์ ซึ่งมีนักเรียนที่ประสงค์รับวัคซีนสูตรนี้เพิ่มเติม 1.6 แสนคน
เมื่อถามว่า มีผู้ประกอบการสถานบันเทิงเรียกร้องให้พิจารณาเปิดพื้นที่นำร่องผับ/บาร์ มีความเป็นไปได้หรือไม่ อย่างไร นพ.โอภาส กล่าวว่า จะต้องมีการหารือในที่ประชุม ศบค.อีกครั้ง แม้สถานการณ์ค่อนข้างดีขึ้นแต่ยังเปลี่ยนเร็ว ในช่วงวันหยุดพบว่า ประชาชนเริ่มเดินทางมากขึ้น ทำกิจกรรมต่างๆ ใกล้เคียงปกติมาก แต่ยังให้ความร่วมมือในการสวมหน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่าง ก็เพื่อให้ประชาชนใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติที่สุด แต่อย่างที่เน้นย้ำคือ จังหวัดที่จะเปิด ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดไปดูกลุ่ม 608 เพื่อให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อลดผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข เน้นย้ำว่าหากผู้ว่าฯ อยากดำเนินการมากขึ้น ซึ่งคาดว่า ศบค.จะอนุญาตเพิ่มขึ้นเป็นระยะ ก็ขอให้เร่งฉีดวัคซีนเพื่อให้ถึงเป้าหมายมากกว่า 60% เพื่อผู้ที่จะพิจารณาอนุมัติให้เกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น ซึ่งขณะนี้มี 5 จังหวัดที่ฉีดเข็มกระตุ้นค่อนข้างดี เช่น นนทบุรี และจังหวัดปริมณฑล
"โอมิครอน" ระบาดในไทยทั้ง 100% เฝ้าระวังสายพันธุ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันโควิด-19 ที่ระบาดในประเทศไทยเป็นโอไมครอน 100% ไม่พบสายพันธุ์อื่นทั้งอัลฟา เดลตา และเบตา ส่วนสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอนเปลี่ยนจาก BA.1 มาเป็น BA.2 แยกเป็น พบ BA.2 ประมาณ 97.6% ที่เหลือ 2.4% เป็น BA.1
อย่างไรก็ตาม BA.1 และ BA.2 มีสายพันธุ์ย่อยลงไปอีกจำนวนมาก ที่พบมากในไทย 2 สัปดาห์ล่าสุด คือ BA.1.1 BA.2.9 BA.2.10 BA.2.10.1 และ BA.2.12
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ย้ำว่า ขณะนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้แต่ละประเทศช่วยกันเฝ้าระวังและตรวจสอบ 3 สายพันธุ์ย่อยของโอไมครอน คือ BA.4 BA.5 ซึ่งพบตั้งแต่ช่วง ก.พ. 2565 เป็นต้นมา ส่วนใหญ่พบมากแถวแอฟริกาใต้ บอตสวานา และยุโรป โดย BA.4 รายงานเข้า GISAID แล้ว 955 ราย และ BA.5 รายงาน 441 ราย และสายพันธุ์ BA.2.12.1 พบมากในสหรัฐอเมริกา ประมาณ 1 หมื่นรายที่รายงานเข้าไปใน GISAID แล้ว
ซึ่งประเทศไทยยังไม่พบ BA.4 พบแต่ BA.5 จำนวน 1 คน เป็นชาวบราซิล ส่งตัวอย่างให้ตรวจเมื่อเดือน เม.ย. ขณะนี้หายดีกลับบ้านเรียบร้อย ส่วน BA.2.12.1 ยังไม่พบในไทย แต่พบตัวแม่ คือ BA.2.12 จำนวน 2 คน คือ ชาวอินเดียและแคนาดา
เมื่อถามว่าจะมีการเฝ้าระวังผู้คนที่เดินทางมาจากสหรัฐอเมริกา กรณี BA.2.12.1 หรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า อาจยังไม่ต้องขนาดนั้น เพราะยังไม่ส่งสัญญาณอะไร เว้นว่า 2-3 สัปดาห์ข้างหน้าจะมีสัญญาณว่ารุนแรงมากขึ้นหรือหนักขึ้น แต่หากให้คาดเดาไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะสายพันธุ์ลูกๆ หลานๆ ที่ออกมาก็ไม่ได้มีอะไร เหมือนตอน BA.2.2 ที่ฮ่องกงคิดว่าทำให้ป่วยหนัก ปรากฏว่าเป็นเพราะคนไข้เพิ่มขึ้นเยอะและมีปัญหาในเรื่องการจัดการ
นอกจากนั้น ขณะนี้ได้สั่งให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 15 แห่ง เฝ้าระวังตรวจทั้ง 3 สายพันธุ์ โดยเน้นการเก็บตัวอย่างในคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ผู้ป่วยอาการหนัก หากพบสัดส่วนผู้ป่วยอาการหนักในเชื้อกลายพันธุ์ที่เฝ้าระวังมากขึ้น ก็แสดงว่ามีสัญญาณบางอย่าง ซึ่งเราสามารถตรวจเฉพาะจุดด้วยวิธี SNP โดยมีน้ำยาที่ให้แต่ละศูนย์ตรวจได้ปริมาณมาก
ส่วนความรุนแรงของ BA.4 และ BA.5 มีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งโปรตีนหนาม L452R เหมือนกับสายพันธุ์เดลตานั้น ในขณะนี้ยังสรุปไม่ได้ ขณะเดียวกันมีรายงานจากแอฟริกาใต้ว่า เมื่อติดเชื้อด้วย BA.1 ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติไม่สามารถกันติดเชื้อ BA.2 ได้ จึงไม่สามารถกัน BA.4 และ BA.5 ได้ด้วย แต่หากติดเชื้อ BA.1 เคยรับวัคซีนมาก่อน แม้ภูมิคุ้มกันลดลง ก็ไม่มาก จะสามารถช่วยป้องกัน BA.4 และ BA.5 ได้มากกว่า เรียกว่าฉีดวัคซีนด้วยจะดีกว่าติดเชื้อโดยธรรมชาติ วัคซีนยังช่วยป้องกันไม่ว่าสายพันธุ์ไหน
ด้านสายพันธุ์ลูกผสมหรือไฮบริดของไทยที่ส่งตัวอย่างจำนวนหนึ่งที่มีความคล้ายกับ XJ เข้าไปยังฐานข้อมูลกลางโลก GISAID ซึ่งหาก GISAID วิเคราะห์เรียบร้อยแล้วเป็นจริงก็จะมีการนำขึ้นเว็บไซต์ ซึ่งขณะนี้ข้อมูลสายพันธุ์ลูกผสมที่ GISAID รับรองแล้ว ยังไม่มีตัวอย่างของประเทศไทย คือ ยังไม่พบว่าเข้าได้กับสายพันธุ์ลูกผสมหรือ X ตัวใด
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะไปถึง GISAID จะมีชั้นต้นในการใช้เครื่องอัตโนมัติในการเรียกบอกสายพันธุ์ พบว่า ตัวอย่างของไทยทั้ง 12 ตัวอย่าง เป็น XM 8 ตัวอย่าง XN 3 ตัวอย่าง และ XE 1 ตัวอย่าง แต่ต้องรอ GISAID วิเคราะห์ว่าใช่หรือไม่ใช่ ทำให้จนถึงขณะนี้สายพันธุ์ลูกผสมในไทยไม่น่ากังวล เพราะน่าจะพบน้อยลง เนื่องจากเดลตาหายไปเกือบจะสิ้นเชิง ไม่น่าจะมีตัวอะไรมาไฮบริด ยกเว้นแต่ตัวไฮบริดที่เจอจากการขยายพันธุ์ของมันเอง