น่ากลัวมากจริงๆสำหรับไวรัสกลายพันธ์โควิด-19 สายพันธ์โอมิครอน ที่สามารถแพร่กระจายเชื้อจาก 1 คนสู่ 15 คน และติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว
วันที่ 6 ม.ค. 2565 ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า ข้อมูลทั่วโลกมีการวิเคราะห์พบเชื้อโอมิครอน เป็นไวรัสที่ติดต่อได้ง่ายที่สุดเป็นอันดับสองของโลกรองจากไวรัสหัด โดยคิดจากค่า R-naught (R0) เป็นการคำนวณความสามารถในการแพร่ระบาดโดยเฉลี่ยของโรค ซึ่งไวรัสหัดติดต่อกันได้ง่ายที่สุดในโลก มีค่า R-naught ประมาณ 15-18 ไวรัสไข้หวัดใหญ่สเปญ 1918 มีค่า R-naught ประมาณ 2-3
สำหรับไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ดั้งเดิมอู่อั้น มีค่า R-naught ประมาณ 2.5 เดลตา มีค่า R-naught ประมาณ 6.5-8 ส่วนโอมิครอนมีค่า R-naught ประมาณ 8-15 หมายถึงผู้ติดเชื้อโอมิครอน 1 คน สามารถแพร่ติดต่อไปยังผู้อื่นอีก 8-15 คน แต่มีเงื่อนไขว่าคนเหล่านั้นไม่มีภูมิคุ้มกันเลย ไม่เคยติดเชื้อ และไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 มาเลย
ในส่วนของประเทศไทย เนื่องจากประชากรกว่า 70% ฉีดวัคซีนไปแล้ว และส่วนหนึ่งมีการติดเชื้อตามธรรมชาติ ค่า R-naught โอมิครอนในไทยอาจเทียบเท่าเดลตา 6-8 คน ค่า R-naught จึงไม่ตายตัว เปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา ขึ้นอยู่กับปัจจัยภูมิคุ้มกันของเราที่ได้รับจากการฉีดวัคซีน และการติดเชื้อตามธรรมชาติที่เราไม่รู้ตัวได้
ทั้งนี้ เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ที่ผู้ติดเชื้อจะพุ่งเป็นหลักหมื่น หลังจากที่ประเทศไทยเข้าสู่การระบาดระลอกที่ 5 ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวว่า เป็นไปได้ ดูจากที่ รพ.รามาธิบดี ที่มีการสวอป RT-PCR นำเชื้อมาตรวจมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น พอ PCR เป็นผลบวกจะส่งมาที่ศูนย์จีโนมฯ ตรวจหาสายพันธุ์พบเป็นเดลตากับโอมิครอนสัดส่วนครึ่งต่อครึ่งจากเดิมมีการส่งตรวจน้อยมาก สัปดาห์หน้าอาจจะมีมากขึ้น
ขณะเดียวกัน จำนวนสิ่งส่งตรวจจากภายนอก รพ.ต่างๆ ที่ส่งเข้ามาให้ศูนย์จีโนมฯ ตรวจก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น ช่วงที่เดลตาขาลงมีการส่งตรวจประมาณ 200 ตัวอย่างต่อวัน พบผลบวก 1-2% เท่านั้น แต่ตอนนี้เพิ่มเป็น 500-600 ตัวอย่างต่อวัน เป็นผลบวกถึง 30-40% ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งเป็นโอมิครอน ดังนั้นจึงต้องระวัง และยังต้องคำนึงถึงสายพันธุ์เดลตาด้วย เนื่องจากโอมิครอนอาจจะไม่มีอาการรุนแรง แต่หากมีเดลตาแฝงมาด้วย แนวทางการรักษาก็อาจจะต่างกัน
โดยเฉพาะการรักษาตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation-HI เพราะการตรวจ PCR ไม่ได้เป็นการตรวจสายพันธุ์อะไร ผู้ติดเชื้อจึงยังมีเดลตาแฝงมาด้วย เมื่อก่อนการรักษาจะเหมือนกัน แต่คราวนี้ รพ.หลายแห่งส่งสิ่งส่งตรวจมาให้ที่ศูนย์จีโนมฯ ตรวจสายพันธุ์ เนื่องจากมีแนวทางการรักษาไม่เหมือนกัน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ บางคนมองว่าการรักษาไม่ต่างกัน แต่บางคนก็มีแนวทางรักษาที่ต่างกัน การตรวจหาสายพันธุ์จึงควบคู่กับการนำไปใช้ในการรักษาและเวชปฏิบัติที่ต่างกัน.
No comments:
Post a Comment